รู้ไว้!!! ก่อนฉีด วัคซีนโควิด-19 คืออะไร มีกี่ชนิด?
โดย : ศูนยะตา
รู้ไว้!!! ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
ไทยร่วมใจสู้ภัยโควิด ...สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน แม้จะมีเหตุผลและความกังวัลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 อยู่บ้าง แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้น และ ทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ให้กับคนทั่วทั้งโลกได้อย่างดีที่สุด
...ซึ่งปัจจุบันนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างออกมา "รณรงค์" เชิญชวนให้คนไทยฉีดวัคซีนกันให้ครบ ทุกคน ทั้งประเทศ โดย พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้ มีนโยบายวางไว้ให้ฉีดกว่าวันละ 5 แสนคน หรือวันละ 15 ล้านโดส !!!! เริ่ม 7 มิ.ย 64
โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 3 กลุ่มหลัก เพื่อให้หน่วยงานแยกกันบริหารจัดการวัคซีนที่รับมาจากสต็อกกลางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
• กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค สธ. รับผิดชอบ
• กลุ่มเอกชนเพื่อเปิดเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบ
• กลุ่มประชาชนทั่วไป ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ
แล้ววัคซีนคืออะไร? มีกี่ชนิด? วันนี้ สอ.ปม. จะมาเล่าให้ฟังกันครับ
วัคซีน COVID-19 คืออะไร ?
วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหากได้รับเชื้อในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีนร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ การฉีดวัคซีนผู้รับวัคซีนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
วัคซีน COVID-19 มีกี่ชนิด ? (ชนิดนะครับไม่ใช่ยี่ห้อ ^^)
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 โดยหลายบริษัทผู้ผลิตและหลายรูปแบบ วิธีการผลิตวัคซีนหรือที่มาของวัคซีนมีหลายวิธีการ แต่ทั้งหมดคือให้ต่อต้านไวรัสโคโรนาซาร์โควี-2 (SAR-CoV-2) ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายเพื่อไปก่อโรคได้
โดยวิธีการใช้ผลิตวัคซีน มีทั้งหมด 4 ชนิดดังนี้
1 . วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine)
วัคซีนกลุ่มนี้ คือการนำเชื้อไวรัสโควิด19 มาขยายจำนวนให้มากขึ้น และนำมาทำให้เชื้อตาย แล้วทำให้สะอาด เพื่อนำมาฉีดทำเป็นภูมิคุ้มกันไวรัสในตัวเรา เสมือนร่ายกายได้รับเชื้อไวรัสโดยตรงแต่ไม่ทำให้เกิดโรค เพราะเชื้อตายแล้ว เทคโนโลยีนี้มีวิธีการทำมานานแล้ว ครับ แต่เนื่องจากการเพาะเลี้ยงไวรัสต้องใช้ความระมัดระวังมาก ทําให้ผลิตได้ช้าและมีราคาแพง
วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Sinovac และ sinopharm
2.วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine)
วัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้ ทั่วโลกมีความคุ้นเคยมานาน เพราะใช้ในการผลิตวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ผลิตโดยการ สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส แล้วนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด19
วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่วัคซีนแบรนด์ Novavax
3.วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม
วัคซีนกลุ่มนี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ สังเคราะห์สารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger RNA: mRNA) ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส วัคซีนจะทำหน้าที่พา mRNA เข้าเซลล์ และ กํากับให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ
วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna
4. วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines)
โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ
วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของ Johnson & Johnson และ Oxford – AstraZeneca รวมถึงวัคซีน Sputnik V
ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟก่อนวันที่มาฉีด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ตรวจสอบสถานที่ เวลานัด และอย่าลืมบัตรประจำตัวประชาชน
สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว
- หากรับประทานยาประจำ ไม่ควรหยุดยา ยกเว้นแพทย์ให้หยุดยาชั่วคราว และแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีน
- ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ต้องกดตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนนานอย่างน้อย 2 นาที ส่วนผู้ที่รับประทานยาวาร์ฟาริน ควรต้องมีระดับ INR <3
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ผู้ที่กำลังจะได้รับการผ่าตัดหรือกำลังได้รับยาเคมีบำบัดควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม ส่วนผู้ป่วยรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด ให้เว้นระยะการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เดือน
- ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ HIV สามารถฉีดวัคซีนได้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารสามารถฉีดวัคซีนได้
ผู้ที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่ (หรือ แล้วแต่แพทย์เป็นผู้พิจารณา)
- อายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ยังไม่มีข้อมูลในผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปี
- กำลังตั้งครรภ์ กรมอนามัยแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีน Sinovac ก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว
- เจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น ไข้ ถ่ายเหลว หรือเพิ่งออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือโรคเรื้อรังอาการไม่คงที่ ควรเลื่อนนัด
- ฉีดวัคซีนห่างจากวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2-4 สัปดาห์ แต่วัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสุนัขกัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลย
8 ข้อต้องแจ้ง ก่อนฉีดวัคซีน
สิ่งที่ต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่
- มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติภูมิแพ้ หรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสในวันที่นัดฉีดวัคซีน
- มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
- อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
- ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
ทั้งนี้หากท่านสมาชิกมีอาการดังต่อไปนี้ หลังได้รับวัคซีน รีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
• ไข้สูง
• หนาวสั่น
• ปวดศีรษะรุนแรง
• เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือ หายใจไม่ออก
• อาเจียน มากกว่า 5 ครั้ง
• ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก
• มีจุดจ้ำเลือดออกจํานวนมาก
• ใบหน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว
• แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้
• ต่อมน้ําเหลืองโต
• ชัก หรือหมดสติ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.bangkokhospital.com , www.praram9.com , www.synphaet.co.th , LDA Podcast , the standard