ข่าวสารสหกรณ์
  • 31 มี.ค. 2563
 16,487

คำชี้แจง มาตรการช่วยเหลือสมาชิกและสมาชิกสมทบที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

UploadImage

 

คำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม

มาตรการช่วยเหลือสมาชิกและสมาชิกสมทบที่ได้รับผลกระทบ

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด

------------------------------


 

ตามที่สถานการณ์ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และมีแนวโน้มแพร่กระจายในวงกว้าง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด ชุดที่ 43 ในคราวประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกและสมาชิกสมทบที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด ขอเรียนชี้แจงวัตถุประสงค์และรายละเอียดเพิ่มเติมมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

 

มาตรการที่ 1 ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อสมาชิก 10,000 บาท สมาชิกสมทบ 5,000 บาท วงเงิน 10 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและสมาชิกสมทบที่เราไม่อาจคาดคิดได้ว่าท่านใดจะเป็นผู้โชคร้าย

 

สหกรณ์มุ่งหวังให้สมาชิกและสมาชิกสมทบทุกท่านแข็งแรงปลอดภัย ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลตนเองและครอบครัวให้ปราศจากภัยอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ หากแม้ว่าเราจะระมัดระวังตัวเองกันอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ในวันนี้เราไม่อาจทราบได้ว่าจุดสิ้นสุดของโรคระบาดครั้งนี้คือเมื่อใด เราทุกคนจึงยังอยู่ในความเสี่ยง อาจโชคร้ายติดเชื้อโดยไม่คาดคิดหรือรู้ตัวได้ ซึ่งหากสมาชิกท่านใดโชคร้ายติดเชื้อ เราชาวสหกรณ์ทุกคนก็ขอเป็นกำลังใจให้ท่านฟันฝ่าอุปสรรคและรักษาให้หายเพื่อกลับมาอยู่กับบ้านและครอบครัวโดยเร็ววัน

 

สำหรับสหกรณ์นอกจากจะเป็นกำลังใจให้ท่านแล้ว ยังขอเป็นผู้แทนจากมวลสมาชิกทั้งหมดมอบเงินสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือสำหรับสมาชิก 10,000 บาท และสมาชิกสมทบ 5,000 บาท และที่สำคัญเพื่อเป็นแรงใจกำลังใจให้ท่านเหล่านั้น

 

ดังนั้น ในฐานะเพื่อนสมาชิกด้วยกัน เราจึงคิดว่าเงินของสหกรณ์ควรใช้ตามเหตุผลและความจำเป็น หากสมาชิกท่านใดโชคร้ายติดเชื้อก็ควรได้รับความช่วยเหลือเสมือนเพื่อนช่วยเพื่อนบ้างตามสมควร  
 

มาตรการที่ 2 พักชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน (ตามความสมัครใจ)

วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและสมาชิกสมทบทุกท่านให้มีเงินเดือนเหลือมากขึ้น

โดยสหกรณ์ให้ยื่นคำขอพักชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือนได้ตามความสมัครใจ มาตรการนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกที่มีรายได้จากเงินเดือนราชการเพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังจ่ายเงินเดือนเต็มเหมือนเดิม แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกที่มีรายได้ของครอบครัวมาจากหลายทาง และรายได้ทางอื่นนั้นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

 

การพักชำระหนี้จะช่วยเหลือเยียวยาให้แก่สมาชิกที่ครอบครัวมีรายได้ลดลง ทำให้มีเงินเดือนเหลือเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็นมากขึ้น แต่การพักชำระหนี้เงินเดือน 3 เดือนมีผลกระทบคือทำให้งวดการชำระหนี้ที่ทำสัญญาไว้กับสหกรณ์ขยายระยะเวลายืดออกไป เช่น ทำสัญญาไว้ 144 งวดก็จะถูกขยายไปเป็นประมาณ 147 งวด ซึ่งกระทบต่อนิติกรรมสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยการขอพักชำระหนี้จะต้องให้ผู้ค้ำประกันเซ็นต์ยินยอมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของสัญญาการค้ำประกัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

                                        

1. เงินกู้ที่ไม่ใช้บุคคลค้ำประกัน ผู้ค้ำไม่ต้องเซ็นต์ยินยอม เช่น เงินกู้ฉุกเฉิน เงินกู้สามัญ (ที่มีหนี้รวมกับเงินกู้ฉุกเฉินแล้วน้อยกว่าทุนเรือนหุ้น) เงินกู้พิเศษหุ้น เงินกู้พิเศษเงินฝาก หรือเงินกู้พิเศษสินเชื่อวนาเคหะ ซึ่งให้เจ้าของทรัพย์ที่จดจำนองซึ่งก็คือผู้กู้และคู่สมรส (ถ้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ด้วย) เซ็นต์ยินยอมมาพร้อมคำขอพักชำระหนี้ก็เสร็จสิ้นเลย ในคำขอแผ่นเดียว

 

2. เงินกู้ที่ใช้บุคคลค้ำประกัน ผู้ค้ำต้องเซ็นต์ยินยอม เช่น เงินกู้สามัญที่มีหนี้เกินกว่ามูลค่าหุ้น กรณีนี้อาจยุ่งยากบ้างหากผู้ค้ำไม่ได้ทำงานที่สำนักงานเดียวกัน แต่สหกรณ์มีแบบฟอร์มบันทึกข้อตกลงการค้ำประกันให้ผู้กู้แยกส่งไปยังผู้ค้ำหรือผู้ค้ำสามารถพิมพ์แบบฟอร์มจาก www.025798899.com ข้อ 2.22  และส่งกลับไปยังผู้กู้เพื่อให้ผู้กู้รวบรวมส่งให้สหกรณ์  แต่ถ้าผู้ค้ำอยู่สำนักงานเดียวกันก็จะสะดวกยิ่งขึ้นโดยกรอกแบบฟอร์มข้อ 2.21

 

  • ผู้ค้ำไม่ต้องเซ็นต์ยินยอมไม่ได้หรือ จะช่วยแล้วทำไมต้องทำให้ยุ่งยากด้วย

กรณีนี้ขอเรียนว่า ถ้าลำพังเฉพาะคณะกรรมการสหกรณ์คงไม่มีกรรมการท่านใดกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติให้ผู้ค้ำต้องเซ็นต์ยินยอมอย่างแน่นอน เพราะทราบถึงความยุ่งยากของสมาชิกและความยุ่งยากของสหกรณ์เองที่จะต้องมาตรวจสอบลายมือชื่อให้ถูกต้องครบถ้วน คือต้องเหนื่อยและเสียเวลาทั้งสมาชิกและสหกรณ์

 

  • แล้วทำไมต้องให้ผู้ค้ำเซ็นต์ยินยอม

ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 และประกาศของนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ซึ่งกำหนดให้การผ่อนผันขยายงวดการชำระหนี้ต้องมีหลักฐานการได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน

 

  • สหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประกาศของนายทะเบียนสหกรณ์ได้หรือไม่

สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ การดำเนินงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายทะเบียนสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หากสหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ที่มีอำนาจตามกฎหมายแล้ว สหกรณ์ย่อมไม่สามารถดำเนินกิจการไปด้วยความราบรื่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อลดความยุ่งยากอย่างหนึ่ง อาจสร้างความยุ่งยากใหม่ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อความศรัทธาและความมั่นคงของสหกรณ์ในระยะยาวในที่สุด

 

สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ การพักชำระหนี้หากสัญญาเงินกู้ใดที่มีบุคคลค้ำประกันแล้วก็ต้องให้ผู้ค้ำประกันเซ็นต์ยินยอมทั้งสิ้น เพียงแต่สัญญาเงินกู้ของธนาคารส่วนใหญ่ไม่ใช้บุคคลค้ำประกัน เช่น สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิตต่าง ๆ หรืออาจใช้หลักทรัพย์อื่น ๆ ค้ำประกัน สัญญาเงินกู้ของธนาคารที่ให้บุคคลค้ำประกันจึงมีน้อยกว่าสัญญาเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์

 

  • ถ้าต้องให้ผู้ค้ำประกันเซ็นต์ยินยอมกลัวว่าจะยื่นไม่ทัน 30 เมษายน 2563

หากสมาชิกยื่นคำขอพักชำระหนี้เงินต้นเข้ามาเป็นจำนวนมากและมีเสียงเรียกร้องจากสมาชิก คณะกรรมการสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการยื่นคำขอไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ได้

    

  • ทำไมไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะจะเป็นการช่วยสมาชิกได้มากกว่า

มาตรการการพักชำระหนี้เงินต้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีเงินเดือนเหลือมากขึ้น เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็นมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

 

การลดดอกเบี้ยอาจมิได้ช่วยให้สมาชิกมีเงินเดือนเหลือในขณะนี้มากขึ้น เพราะต้องผ่อนชำระหนี้รายเดือนเท่าเดิม เพียงแต่หนี้อาจหมดเร็วขึ้น แต่ครอบครัวสมาชิกที่มีรายได้ลดลงต้องการเงินเดือนเหลือมากขึ้นเพื่อจับจ่ายใช้สอยในขณะนี้ การลดดอกเบี้ยหากต้องผ่อนชำระเท่าเดิมจึงอาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เว้นแต่ต้องทำสัญญาเงินกู้ใหม่ ผู้ค้ำประกันเซ็นต์ใหม่ แต่จำนวนเงินเดือนคงเหลือก็ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เช่น เงินกู้  1 แสนบาท หากดอกเบี้ยลดไป 0.25% ยอดผ่อนชำระรายเดือนจะลดไปประมาณ 10 บาทเท่านั้น

        

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้มีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ทั้งนี้ เป็นไปตามสถานการณ์ตลาดการเงิน การหารายได้ของสหกรณ์ และพิจารณาถึงเป้าหมายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่มวลสมาชิกทั้งหมดคาดหวัง

 

มาตรการที่ 3 ลดค่าหุ้นรายเดือนเหลือขั้นต่ำ 500 บาท 3 เดือน (ตามความสมัครใจ)

วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและสมาชิกสมทบทุกท่านให้มีเงินเดือนเหลือมากขึ้น

สหกรณ์ได้แก้ไขระเบียบให้สมาชิกและสมาชิกสมทบสามารถขอลดการชำระค่าหุ้นรายเดือนได้ ตามความสมัครใจ แต่ต้องไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท

 

โดยทั่วไปสหกรณ์ต้องส่งเสริมการออมทรัพย์แก่สมาชิก โดยที่การออมเงินกับสหกรณ์มี 2 กรณีคือ ออมภาคสมัครใจ คือเงินฝากออมทรัพย์ต่าง ๆ และการออมภาคบังคับ คือทุนเรือนหุ้น สมาชิกที่ไม่มีหนี้หรือ    มีหนี้กับสหกรณ์จะต้องมีการออมหุ้นควบคู่กันไปด้วยเสมอ เพื่อความมั่นคงของสมาชิกในระยะยาว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติเช่นกรณีการระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้ สมาชิกอาจมีความจำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันมากขึ้น สหกรณ์จึงออกมาตรการช่วยสมาชิกด้วยการชะลอการออมภาคบังคับตามข้อบังคับของสหกรณ์ไปก่อนเป็นการชั่วคราว ให้สมาชิกสามารถปรับหุ้นให้ลดลงกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบได้ เพื่อให้สมาชิกได้มีเงินเดือนคงเหลือไปจับจ่ายใช้สอยในยามที่จำเป็นตามสถานการณ์ปัจจุบันได้มากขึ้น

 

หากสมาชิกท่านใดไม่เดือดร้อนครอบครัวมิได้มีรายได้ลดลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ให้คงการส่งหุ้นไว้ในอัตราเดิมเพื่อประโยชน์ในการได้รับเงินปันผลและการออม เพื่อสร้างฐานะความมั่นคงให้กับครอบครัวในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อสมาชิก สมาชิกสมทบและครอบครัว สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด ขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ในการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันของหมู่มวลสมาชิก ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบากเพียงใด สหกรณ์ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน เพื่อเราจะได้ก้าวข้ามเหตุการณ์วิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

    5 เมษายน พ.ศ. 2563
สหกรณ์ออมทรัพย์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด


เอกสาร