ตอนที่ 3 ควรออมเท่าไรจึงใช้สบายวัยเกษียณ
ควรออมเท่าไรจึงใช้สบายวัยเกษียณ
ท้องถนนในเมืองหลวงรถคืบคลาน ทางเท้าผู้คนเบียดเสียดแน่น ต่างคนต่างฝักใฝ่ใจจดจ่อกับภารกิจที่ตนมี ไม่ใคร่มีใครสนใจใคร แม้จะมีผู้คนนับล้าน แต่เอื้อรู้สึกเหงาจับใจ มีคนอยู่ใกล้จำนวนมากแต่ใจเหินห่างบางครั้งทำให้เราเหงาได้มากกว่าการอยู่เพียงคนเดียวเสียอีก
เอื้อ นั่งอยู่บนรถเมล์ถ้าไม่ปล่อยใจไปตามอารมรณ์เหงาก็มักหยิบหนังสือมาอ่านเป็นเพื่อน เอื้อพลิกหนังสือ ออมก่อนรวยกว่า ที่พี่อาทรซื้อมาฝากเมื่อสองวันก่อน ดีกว่าการปล่อยอารมณ์ไปตามกระแสความรู้สึกของผู้คน
อ่านแล้วเอื้อนึกถึงพ่อที่อีกไม่ถึงสิบปีก็จะเกษียณแล้ว เมื่อเกษียณแล้วยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เดี่ยวนี้คนไทยอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 78 ปี ถ้าเกษียณอายุ 60 ปี เท่ากับว่าเราต้องมีเงินใช้หลังเกษียณอีกประมาณ 18 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่น้อยเลยเพราะไม่มีรายได้แล้ว
เอื้อเห็นด้วยกับเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในหลายประเทศซึ่งบอกว่า หลังเกษียณเราควรมีเงินใช้ประมาณ 70% ของเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ เช่น ถ้าเงินเดือนสุดท้ายของพ่อก่อนเกษียณ 30,000 บาท ซึ่งหวังว่าคงจะถึงนะเพราะอีกหลายสิบปีมาก พ่อควรมีเงินใช้หลังเกษียณอย่างน้อย 21,000 บาท คงจะพอเพราะหลังเกษียณค่าใช่จ่ายน้อยลง กินน้อยลง ภาษีสังคมก็น้อยลง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานทุกวัน
แต่จะต้องออมเท่าไรละจึงจะมีเงินใช้อย่างน้อยเดือนละประมาณ 70% ของเงินเดือนสุดท้าย
เอื้อดูตารางการออมที่จะทำให้มีเงินใช้สบาย ๆ ในยามเกษียณ
จำนวนเงินที่ต้องออมซึ่งทำให้หลังเกษียณอายุแล้ว
ผู้ออมจะมีเงินใช้ประมาณ 70% ของเงินเดือนสุดท้าย
เริ่มต้นออมเงินเมื่ออายุ จำนวนเงินที่ต้องออมต่อเดือน
25 ปี 7% ของเงินเดือน
30 ปี 10% ของเงินเดือน
40 ปี 20% ของเงินเดือน
50 ปี 50% ของเงินเดือน
55 ปี 80% ของเงินเดือน
เอื้อคิดว่าถ้าเธอเริ่มออมเงินตั้งแต่เริ่มทำงานอายุน้อย ๆ จะเป็นการดีกว่าเพราะไม่ต้องเหนื่อยกระเบียดกระเษียณกับการออมจนเกินไป เพราะออมเพียงประมาณ 7% ของเงินเดือนเท่านั้น แต่ถ้าไปเริ่มออมที่อายุ 30 ปี ต้องออมเดือนละ 10% และถ้าอายุ 40 ปีต้องออมถึง 20% ของเงินเดือน จึงจะทำให้หลังเกษียณเธอจะมีเงินใช้ประมาณเดือนละ 20,000 บาทหรือประมาณ 70% ของเงินเดือนสุดท้าย ถ้าเริ่มต้นออมช้าเมื่ออายุมากแล้วยิ่งต้องเพิ่มเงินออมเป็นทวีคูณ ซึ่งเธอคิดในใจว่าความฝันยิ่งห่างไกลและเป็นไปได้ยากขึ้นหากเราเริ่มต้นออมช้า
เอื้อถึงบางอ้อเมื่อเธอเคยเห็นตารางการออมทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ที่พ่อเป็นสมาชิก ซึ่งกำหนดให้สมาชิกต้องส่งหุ้นประมาณ 7% ของเงินเดือนตั้งแต่เริ่มเป็นสมาชิก ซึ่งหากสมาชิกไม่รับเงินปันผลเลยโดยทบเป็นทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อเกษียณจะมีเงินใช้อย่างสบาย ๆ อีกไม่น้อยกว่า 70% ของเงินเดือนสุดท้าย เพิ่มเติมจากบำเหน็จหรือบำนาญที่ได้รับ
เอื้อคิดว่าหากเจอพี่อาทรเมื่อไรจะถามว่าที่ทำงานของพี่อาทรมีสหกรณ์ออมทรัพย์หรือไม่ ถ้ามีก็น่าจะรีบไปสมัคร...
.......................................................
โลก ของ เอื้อและอาทร
โดย สนวลี