สาระน่ารู้
  • 15 มิ.ย. 2566
 27,350

สหกรณ์ออมทรัพย์คืออะไร?..จัดตั้งเพื่ออะไร??

สหกรณ์ออมทรัพย์คืออะไร?..จัดตั้งเพื่ออะไร??


ในปัจจุบันเป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. 2548 กำหนดไว้ 7 ประเภท ดังต่อไปนี้


1. สหกรณ์การเกษตร

2. สหกรณ์ประมง

3. สหกรณ์นิคม

4. สหกรณ์ร้านค้า

5. สหกรณ์บริการ

6. สหกรณ์ออมทรัพย์

7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

 

ประเภทสหกรณ์ คือ กลุ่มสหกรณ์ที่มีความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์หลักอย่างเดียวกัน เช่น กลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มสหกรณ์ประมง กลุ่มสหกรณ์นิคม กลุ่มสหกรณ์ร้านค้า ฯลฯ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542

 

สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด ของเรานั้น จัดอยู่ในประเภทของ “สหกรณ์ออมทรัพย์” และทางสหกรณ์ฯ ขอนำความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องของความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของ “สหกรณ์ออมทรัพย์” มาฝากให้กับท่านสมาชิกทราบกันค่ะ

 

สหกรณ์ออมทรัพย์ คือ

สถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลที่มีอาชีพอย่างเดียวกันหรืออาศัยในที่ชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และให้กู้ยืมเงินเมื่อเกิดความจำเป็น หรือเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์งอกเงย และได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

ประวัติความเป็นมา

จากสภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ ประชาชนประสบปัญหาเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่สามารถจะหารายได้เพิ่มให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และมักจะแก้ไขปัญหาด้วยการกู้ยืมเงินจากนายทุนโดยยอมเสีย ดอกเบี้ยในอัตราสูง จึงก่อให้เกิดหนี้สินผูกพัน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว ภายหลังบุคคลที่ ประสบปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกัน จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน โดยยึดหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

UploadImage

วัตถุประสงค์
สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้บุคคลที่เป็นสมาชิกรู้จักการประหยัด รู้จักการออมทรัพย์และสามารถบริการเงินกู้ ให้แก่สมาชิกเพื่อนำไปใช้จ่ายเมื่อเกิดความจำเป็นโดยยึดหลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอีกทางหนึ่ง ดังนี้

UploadImage

การส่งเสริมการออมทรัพย์

เป็นวัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์ออมทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

1. การส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์โดยการถือหุ้น สหกรณ์กำหนดให้สมาชิกส่งชำระค่าหุ้นเป็นประจำทุกเดือนโดนการหักเงินค่าหุ้น ณ ที่จ่ายเงินเดือนและจ่ายเงินปันผลค่าหุ้นให้แก่สมาชิกตามอัตราที่พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 กำหนดไว้เงินปันผลที่ได้รับนี้ไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ และเมื่อสมาชิกลาออกจากสหกรณ์ก็สามารถถอนค่าหุ้นคืนได้

2. การส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์โดยการรับฝากเงิน สหกรณ์มีบริการด้านเงินฝากทั้งประเภทเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์และให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับธนาคารพาณิชย์ หรือสูงกว่าตามฐานะของแต่ละสหกรณ์

การให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์

สหกรณ์จะนำเงินค่าหุ้นและเงินฝากของสมาชิกมาหมุนเวียนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นหรือเดือดร้อนกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเอกชน ลักษณะการให้เงินกู้เงินกู้ที่สหกรณ์จ่ายให้กับสมาชิกมี 3 ประเภท คือ

1. เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน (เงินกู้ระยะสั้น)

ในกรณีที่สมาชิกมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือมีรายจ่ายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน สมาชิกสามารถกู้เงินประเภทนี้โดยจำกัดขั้นสูงไว้ตามฐานะของแต่ละสหกรณ์ และไม่ต้องมีคนค้ำประกัน

2. เงินกู้สามัญ (เงินกู้ระยะกลาง)

สมาชิกสามารถกู้เงินประเภทนี้โดยจำกัดขั้นสูงไว้ตามฐานะของแต่ละสหกรณ์ และต้องมีสมาชิกด้วยกันค้ำประกันอย่างน้อย1คน

3. เงินกู้พิเศษ (เงินกู้ระยะยาว)
เมื่อสหกรณ์มีฐานะมั่นคงแล้ว สหกรณ์จะเปิดบริการให้เงินกู้พิเศษเพื่อให้สมาชิกกู้ไปลงทุนในการประกอบอาชีพ หรือกู้ไปเพื่อการเคหะสงเคราะห์เงินกู้ประเภทนี้สามารถกู้ตามจำนวนเงินที่จะนำไปลงทุนประกอบอาชีพหรือขึ้นอยู่กับราคาของบ้านและที่ดินที่จะซื้อ หรือจำกัดขั้นสูงไว้ตามที่สหกรณ์กำหนดไว้เป็นคราว ๆ ไป โดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักจำนองค้ำประกัน

UploadImage

การดำเนินงาน
สหกรณ์ออมทรัพย์ดำเนินการโดยสมาชิก กล่าวคือ เมื่อได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นแล้ว สมาชิกจะเลือกตั้งตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ให้เข้ามาบริหารงานในสหกรณ์ตัวแทนสมาชิกเหล่านี้เรียกว่า“คณะกรรมการดำเนินการ” มีประมาณ 7-15 คน ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ๆ คณะกรรมการดำเนินการจะทำหน้าบริหารกิจการสหกรณ์โดยจะมีการประชุม อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายในการทำงาน แล้วจึงมอบให้ “ฝ่ายจัดการ” รับไปปฏิบัติงานต่อไป ฝ่ายจัดการนั้นประกอบด้วย ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ สมุห์บัญชีเจ้าหน้าที่การเงิน ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่บริการแก่สมาชิกที่มาติดต่อทำธุรกิจกับสหกรณ์

 

โดยสรุปแล้ว วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ก็เพื่อเป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกเพื่อนำไปใช้จ่ายเมื่อเกิดความจำเป็น ซึ่งการเข้าร่วมสหกรณ์ออมทรัพย์จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อีกทางหนึ่ง